วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

องค์คณะผู้พิพากษา

องค์คณะผู้พิพากษา
องค์คณะผู้พิพากษา
1. ศาลชั้นต้น
1.1 ศาลชั้นต้นทั่วไป
        หมายถึงศาลชั้นต้นที่มิใช่ศาลชำนัญพิเศษ องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นทั่วไป ประกอบด้วย ผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน.ยกเว้น ศาลแขวง ที่องค์คณะประกอบด้วย ผู้พิพากษาคนเดียว ศาลชั้นต้นทั่วไปมี 2 ประเภท คือ
        1. ศาลชั้นต้นทั่วไปสำหรับกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงธนบุรี ศาลแขวงดุสิต ศาลแขวงตลิ่งชัน ศาลแขวงพระโขนง และศาลแขวงปทุมวัน
        2. ศาลชั้นต้นทั่วไปสำหรับจังหวัดอื่นนอกจา กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยศาลจังหวัด และศาลแขวงในจังหวัดต่างๆภาค 1-9
         ศาลแขวง เป็นศาลชั้นต้นที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เป็นความผิดเล็กน้อยและคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์พิพาทไม่สูง ทั้งนี้เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีรวดเร็วยิ่งขึ้น และเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องๆม่เกิน 300,000 บาท และคดีอาญาซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ องค์คณะผู้พิพากษาของศาลแขวงประกอบด้วย ผู้พิพากษาคนเดียว แต่ผู้พิพากษาคนเดียวของศาลแขวงจะลงโทษจำคุกเกิน 6 เดือนหรือปรับเกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับไม่ได้ ต้องให้ผู้พิพากษาอีกคน หนึ่งตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะด้วยแต่ถ้าพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท ก็ใช้อำนาจพิพากษาเพียงคนเดียวได้
1.2 ศาลพิเศษและศาลชำนัญพิเศษ
         ศาลพิเศษ ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัว ส่วนศาลชำนัญพิเศษปัจจุบันมีอยู่ 4 ศาล คือ ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และศาลล้มละลาย
        ศาลพิเศษและศาลชำนัญพิเศษ เป็นศาลชั้นต้นที่ใช้วิธีพิจารณาพิเศษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีของศาลนั้น ๆ ซึ่งแตกต่างจากศาลชั้นต้นทั่วไป โดยผู้พิพากษาศาลพิเศษและศาลชำนัญพิเศษจะเป็นผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ โดยเฉพาะ ศาลในกลุ่มนี้บางศาล เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน และศาลทรัพย์สิทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มีบุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้พิพากษาแต่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบเข้ามาร่วมพิจารณาและพิพากษาคดีด้วย
        คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในกลุ่มนี้(ยกเว้นศาลเยาวชนและครอบครัว) กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ซึ่งจะมีแผนกคดีชำนัญพิเศษเพื่อพิจารณาคดีประเภทนี้โดยเฉพาะ
2. ศาลอุทธรณ์
        เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์การพิจารณาของศาลอุทธรณ์มีลักษณะเป็นการตรวจสอบหรือทบทวนคำพิพากษาของศาลชั้นต้น.ศาลอุทธรณ์มีองค์คณะผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน ศาลอุทธรณ์ประกอบด้วยศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 อีก 9 ศาล
3. ศาลฎีกา
        เป็นศาลสูงสุด มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการฎีกา และมีอำนาจวินิจฉัยได้ตามกฎหมายเฉพาะ ศาลฎีกามีเพียงศาลเดียวตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ มีองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีประกอบด้วยผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน แต่หากคดีใดมีปัญหาสำคัญไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายประธานศาลฎีกาเห็นว่าควรให้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้นำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่การวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาได้

ชื่อผู้แต่ง-. ๒๕๕๓. องค์คณะผู้พิพากษา-คลังปัญญาไลน์ (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2 . ๒๓ มกราคม ๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น